free web counter

           ศาสตราจารย์ ยงค์วิมล เลณบุรี (23 สิงหาคม 2495 - ) เกิดที่กรุงเทพมหานคร เป็นนักวิทยาศาสตร์ชาวไทย ที่มีผลงานดีเด่นในสาขาคณิตศาสตร์ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ศาสตราจารย์ ระดับ 11 สังกัด คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2541 สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2550 สาขาคณิตศาสตร์[ต้องการอ้างอิง]และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2544

ประวัติการศึกษา
           เรียนชั้นมัธยมศึกษาที่ โรงเรียนสาธิตปทุมวัน และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ได้รับทุนโคลอมโบ จากรัฐบาลประเทศออสเตรเลีย จนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี (A2 Honours) ในปี พ.ศ. 2519และปริญญาโท ในปี พ.ศ. 2521 สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) ในระหว่างศึกษาในระดับปริญญาตรี ได้รับรางวัล P. Bok Prize for the Best Female Science Student of the Year ประจำปี พ.ศ. 2515 จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย[ต้องการอ้างอิง]จบปริญญาเอกสาขาคณิตศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Vanderbilt ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2528

ประวัติการทำงาน
           พ.ศ. 2520 - เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ ภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2530 - ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2532 - ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2533 - รองศาสตราจารย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2539 - ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำแหน่งบริหาร
           พ.ศ. 2533-2538 - ประธานหลักสูตรปริญญาโท สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2533-2537 - รองหัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2541-2549 - หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
           พ.ศ. 2549-ปัจจุบัน - ประธานหลักสูตรปริญญาเอก สาขาคณิตศาสตร์ (หลักสูตรนานาชาติ) มหาวิทยาลัยมหิดล

เกียรติคุณและรางวัล
           พ.ศ. 2535 - ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานวิจัยดีเยี่ยม สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เรื่อง "แบบจำลองของระบบการหลั่งฮอร์โมนคอร์ทิซอลในร่างกายมนุษย์"
           พ.ศ. 2538-2543 - ได้รับรางวัลทุนพัฒนานักวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้เป็นเมธีวิจัย สกว.
           พ.ศ. 2541 - ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์กายภาพและคณิตศาสตร์ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
           พ.ศ. 2542-2545 - ได้รับรางวัลทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัย จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้เป็นเมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาคณิตศาสตร์
           พ.ศ. 2544 - ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นราชบัณฑิต ประเภทวิทยาศาสตร์กายภาพ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์
           พ.ศ. 2545-2548 - เมธีวิจัยอาวุโส สกว. สาขาคณิตศาสตร์ ระยะที่ 2
           พ.ศ. 2548-2552 - ได้รับทุนส่งเสริมกลุ่มวิจัยอาชีพ ของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. จากโครงการ “การศึกษาเชิงเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อพัฒนาบุคลากรและงานวิจัยด้านกระบวนการส่งผ่านสัญญาณ ระหว่างเซลล์ที่มีชีวิต โดยวิธีการจำลองแบบทางคณิตศาสตร์และการคำนวณ”
           พ.ศ. 2550 - นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาคณิตศาสตร์

ผลงานด้านการวิจัย
           ศ.ดร. ยงค์วิมล เลณบุรี ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เป็นการนำทฤษฎีทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับระบบไม่เชิงเส้นและระบบพลวัต มาประยุกต์เพื่อสร้างและวิเคราะห์แบบจำลองของปรากฏการณ์ในธรรมชาติ โดยเน้นไปในทางด้านการจำลองเชิงพลวัตของระบบไม่เชิงเส้นในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ ชีววิทยาการแพทย์ และนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม มีผลงานวิจัยที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติจำนวนกว่า 60 เรื่องบทความในหนังสือตำราทั้งไทยและต่างประเทศ จำนวน 5 เรื่อง บทความในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ จำนวน 31 เรื่อง
           ศ.ดร. ยงค์วิมล เป็นนักคณิตศาสตร์ผู้หนึ่งในจำนวนไม่มากนัก ในยุคเริ่มต้นของการนำคณิตศาสตร์เข้าไปศึกษาวิเคราะห์ระบบทางชีววิทยาและการแพทย์ ได้นำทฤษฎีเกี่ยวกับระบบไม่เชิงเส้นเข้าไปใช้ในการจำลองเหตุการณ์ต่างๆ เช่น การหลั่งฮอร์โมนหลากหลายชนิดในร่างกายมนุษย์ ซึ่งความผิดปกติในการหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้เกี่ยวโยงกับอาการป่วยเป็นโรคสำคัญต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคทางการผิดปกติของการเจริญเติบโตของร่างกาย โรคทางสมอง โรคกระดูกพรุน มะเร็ง โรคเส้นเลือดสู่หัวใจอุดตัน เป็นต้น ซึ่งผลจากการวิเคราะห์แบบจำลองสามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัย และเยียวยารักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น งานวิจัยดังกล่าวเพิ่งเริ่มมีผู้หันมาให้ความสนใจเพิ่มมากขึ้นในช่วง 30 กว่าปีให้หลังนี้เท่านั้น ตั้งแต่ยังไม่มีใครรู้จักว่ามีแขนง Biomathematics จนกลายเป็นการวิจัยทางด้าน ชีววิทยาระบบ (System biology) ซึ่งเป็นหัวข้อวิจัยที่ได้รับความสนใจเป้นอย่างมาก สำหรับนักวิจัยในปัจจุบัน จึงถือว่า ศ.ดร. ยงค์วิมล อยู่ในกลุ่มของผู้บุกเบิกให้การใช้เทคนิคทางด้านการสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ (mathematical modelling) กลายมาเป็นที่ยอมรับว่า สามารถมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งในทางการแพทย์ จนเป็นที่สนใจศึกษากันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน